
อย่างที่ทุกคนทราบกันว่า EWER คือส่วนหนึ่งของหลักแนวคิด UCP หรือ การปกป้องพลเรือนโดยไม่ใช้อาวุธ
ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้ง มักมีการต่อสู้ด้วยอาวุธ และการใช้ความรุนแรงของกองกำลังติดอาวุธที่มีหน้าที่รักษาความปลอดภัยของพลเรือน แต่หลักการของการปกป้องพลเรือนโดยไม่ใช้อาวุธ เป็นการรักษาความปลอดภัยในชุมชนโดยการปกป้องชุมชนโดยปราศจากการใช้อาวุธ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งคือกองกำลังรักษาสันติภาพพลเรือนไร้อาวุธ
UCP จึงหมายถึงแนวปฏิบัติของการสร้างความปลอดภัยโดยพลเรือนและไม่ใช้อาวุธ ในสถานการณ์ก่อน ระหว่าง และหลังความขัดแย้งที่รุนแรง หลักการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ “ลดความรุนแรง” และสร้าง “พื้นที่ปลอดภัย” สำหรับพลเรือนในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและปกป้องพลเรือนเปราะบางที่อยู่ในชุมชน กลไกการปกป้องพลเรือนโดยไม่ใช้อาวุธ Unarmed Civilian Protection มี 5 ประการ
1.การมีส่วนร่วมเชิงรุก 2.การติดตาม 3.การสร้างความสัมพันธ์ 4.การพัฒนาศักยภาพ การสนับสนุน ซึ่งการใช้หลักของ UCP แต่ละหลักการขึ้นยู่กับบริบทและสถานการณ์ในพื้นที่นั้นๆ
ในการทำงานของแนวคิดนี้ ผู้ปฏิบัติการUCPต้องไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือการไม่เลือกข้าง เพราะเป้าหมายคือการปกป้องประชาชนหรือพลเรือนในชุมชน ไม่มีส่วนร่วมในความขัดแย้ง ไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ต้องเป็นอิสระจากทั้งสองฝ่ายในบริบทความขัดแย้ง สนับสนุนและส่งเสริมในเรื่องของหลักสิทธิมนุษยชน คนที่มีบทบาทในท้องถิ่นเป็นคนสำคัญในการทำให้เกิดสันติภาพในท้องถิ่นที่ต้องคอยสนับสนุน และร่วมมือกันในการปฏิบัติการของUCP เพื่อที่จะลดความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยหนึ่งในสี่หลักของUCP คือการติดตาม เป็นการใช้เครื่องมือของระบบการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าซึ่งเป็นกลไกของการติดตามสถานการณ์เพื่อป้องกันความรุนแรง และมีอีกหลายวิธีการในการดำเนินการUCP เช่น การควบคุมข่าวลือ การแสดงตนในการป้องกันเหตุรุนแรง การติดตามการหยุดยิง การอบรมทักษะและความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเนื้อหาความขัดแย้งและสันติภาพเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้กับผู้ปฏิบัติการ UCP ในการทำงานปกป้องพลเรือนโดยไม่ใช้อาวุธ
ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ในระหว่างความขัดแย้งที่ยังคงเกิดความรุนแรงขึ้นต่อเนื่องมายาวนาน 20 ปี ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2547 มีทั้งเหตุการณ์ความรุนแรงจากคู่ขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่าย ส่งผลให้พลเรือนเสียชีวิต บาดเจ็บ พิการ ถูกคุมขัง หรือคุกคาม รู้สึกไม่ปลอดภัย ดังนั้นประชาชนในพื้นที่จึงต้องการความปลอดภัยในการดำเนินชีวิต และมีความปลอดภัยไม่ว่าชุมชนจะดำเนินกิจกรรมอะไรก็ตาม นอกจากชุมชนต้องการความปลอดภัยด้านร่างกายแล้ว ชุมชนเองต้องการแสดงออกทางด้านวิถีของคนในพื้นที่ซึ่งมีหลากหลายวัฒนธรรมในพื้นที่ โดยเฉพาะวิถีมลายู ที่บ่อยครั้งมีสถานการณ์ที่คนมลายูในพื้นที่รู้สึกว่าการแสดงออกทางวิถีมลายูไม่ปลอดภัยสำหรับคนในพื้นที่แห่งนี้ สมาคมด้วยใจฯซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานในด้านการติดตามและการปกป้องการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงส่งเสริมในเรื่องของกระบวนการสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้/ปาตานี จึงส่งเสริมให้ชุมชนทำงานในหลักการของ UCP เพื่อเป็นเครื่องมือในการที่ชุมชนปกป้องชุมชนกันเองให้มีความปลอดภัยในท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้ง เพื่อให้พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้/ปาตานี มีบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อกระบวนการสันติภาพ

